เลือกอาหารชะลอเสี่ยงสุขภาพ หลังเทศกาล
เลือกอาหารชะลอเสี่ยงสุขภาพ หลังเทศกาล
เป็นที่ทราบดีเดือนกุมภาพันธ์ เป็นเดือนที่ครุกรุ่นไปด้วยกลิ่นไอของความรัก เป็นช่วงของความสุขตลอดทั้งเดือน แต่ความสุขย่อมมาควบคู่กับความทุกข์เสมอ คนไทยกับเทศกาลเป็นของคู่กัน ไม่ว่าเทศกาลไหนๆ ก็ไม่พ้นเรื่องการกินเพื่อเป็นการฉลอง สิ้นปีก็เลี้ยงส่งท้าย ปีใหม่ก็เลี้ยงฉลองปีใหม่ ต่อด้วยวันแห่งความรักและก็แถมด้วยของขวัญแทนความรักด้วย ช๊อคโกแล๊ด,คุกกี้ อีกไม่นานก็เทศกาลสงกรานต์ และอีกหลายๆ เทศกาลที่จะมาเยือน
ถ้าเปรียบเทศกาลที่กล่าวถึงข้างต้น กับเทศกาลไทยๆ ประเภทการกิน การบริโภคก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปีใหม่ วาเลนไทน์ ไม่มีในประเพณีนิยมของไทย ในเรื่องการมอบขนมเค้ก คุ๊กกี๊ ช๊อกโกแล๊ด แต่เรารับวัฒนธรรมของต่างประเทศมากเกินไปจนดูเหมือนจะเป็นประเพณีของไทยไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็คงจะไม่สายเกินไปที่เราจะมาย้ำเตือนคนไทยด้วยกัน ในเรื่องการเลือกอาหารเพื่อชะลอความเสี่ยงทางสุขภาพ มีคำถามมากมายว่า “ปัจจุบันคนไทย ทำไมมีคนอ้วน และเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตมากเหลือเกิน” ความจริงแล้วคำตอบก็รู้กันอยู่ เพียงแต่ทำใจไม่ได้ที่จะยอมรับ ปัจจุบันคนอ้วนในประเทศไทย โดยเฉพาะอ้วนลงพุง คือมี เส้นรอบรอบเอวเกิน (≥80 ซม.ในหญิง และ ≥90 ซม.)ในชาย ในปี 2555 พบว่า ชายมีรอบเอวเกิน ร้อยละ 7, หญิงมีรอบเอวเกิน ร้อยละ 30.28 (จากประชากร 22,657,368 คน) ส่วนในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการ ที่ 5 (ราชบุรี, นครปฐม, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, และประจวบคีรีขันธ์) พบ ชายมีรอบเอวเกิน ร้อยละ 10, หญิงมีรอบเอวเกิน ร้อยละ 34.4 (จากประชากร 1,946,957 คน) จากอัตราความชุกของโรคอ้วนที่พบมากขึ้นส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อ(NCD) เพิ่มมากขึ้นตามมา จากรายงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่อ้วนลงพุงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนปกติร้อยละ 50 ตายเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบเป็น 2 เท่าของคนไม่อ้วน ตายเพราะโรคเบาหวาน 5 เท่าของคนไม่อ้วน เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนไม่อ้วน 3 เท่า เสี่ยงต่อการเป็นโรคเก๊าท์สูง 5 เท่าของคนไม่อ้วน และเสี่ยงต่อเป็นมะเร็งร้อยละ 33 ของคนไม่อ้วน และจากรายงานอัตราอุบัติการณ์โรคไม่ติดต่อของคนไทย ตั้งแต่ปี 2537 -2549 สำนักแผนงานและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2549 ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก การบริโภคอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม,ขาดการออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายไม่เพียงพอ
วิธีการที่เลือกบริโภคอาหารเพื่อชะลอความเสี่ยงต่อสุขภาพมีมากมาย แต่ที่จะแนะนำ คือ อาหารที่จะช่วยป้องกันโรคจะต้องมีผักผลไม้ อย่างน้อยวันละ 400 กรัมขึ้นไป การกินอาหารที่ประกอบด้วยผักผลไม้มากกว่าครึ่งของปริมาณอาหารที่กินหรือ 500 กรัมต่อวัน และลดอาหารไขมันสัตว์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ 20-30% (มะเร็งช่องปาก หลอดอาหาร ปอด ตับ ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เต้านม กระเพาะปัสสาวะ) ชะลอความแก่ เพิ่มความจำ ป้องกันโรคหัวใจ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน วิธีที่จะบริโภคผลไม้ให้ได้มาก ให้กินเป็นอาหารว่าง (snacks) ซึ่งจะให้พลังงานหรือแคลอรีต่ำ และมีสารอาหารสูงกว่าขนมหวานหรือขนมคบเคี้ยว อาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น แครอท โยเกิร์ต ผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยๆ ถั่วเปลือกแข็ง เวลาการบริโภคอาหารว่าง คือช่วงเวลาที่รู้สึกหิวระหว่างมื้อ แต่ควรแยกแยะระหว่างความหิวและความอยาก
ไม่ยากเลยสำหรับท่านที่มีจุดประสงค์ที่จะลดเสี่ยงต่อการเกิดโรค รู้หลักเพียงเท่านี้ นอกนั้นท่านต้องการที่จะกินอะไร ก็กินได้ไม่มีการห้าม เพียงแต่ตัวท่านเองต้องมีสติเตือนตนเท่านั้น นอกจากท่านจะไม่เสี่ยงต่อความอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูงแล้ว ยังจะช่วยให้ท่านสามารถชะลอวัยได้อีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว ไปตลาดกันเถอะค่ะ ไปเลือกซื้อผัก และผลไม้ตามฤดูกาลมาทานกันในครอบครัว และเลือกใส่กระเช้าในเทศกาลอื่นๆ กันต่อไปนะคะ.....
โดย........นางพัชรี วงศ์ษา
นักโภชนาการชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 4ราชบุรี